วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

About Nakhon Phanom Thailand

เกี่ยวกับจังหวัดนครพนม ประเทศไทย




นครพนม

พระธาตุพนมค่าล้ำ วัฒนธรรมหลากหลาย เรณูผู้ไท เรือไฟโสภา งามตาฝั่งโขง


             นครพนม เมืองนครเดิมเป็นที่ตั้งของอาณาจักรศรีโคตรบูร ตั้งอยู่ทางฝั่งลาว ตรงข้ามกับพระธาตุพนมในปัจจุบัน  ตามประวัติได้มีการโยกย้ายเมืองหลายครั้ง โดยครั้งหนึ่งได้ย้ายมาฝั่งตรงข้าม เรียกชื่อเมืองใหม่นี้ว่า “มรุกขนคร” หมายถึงเมืองที่อยู่ในดงไม้รวก เมื่อ พ.ศ. 500 นั้นรุ่งเรืองมาก มีเมืองขึ้นมากมายและมีการบูรณะพระธาตุพนมขึ้นเป็นครั้งแรก แม้ว่าจะมีการโยกย้ายอีกหลายครั้ง เช่น พ.ศ. 2321 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้มีการย้ายเมืองไปตั้งที่บ้านหนองจันทร์ห่างขึ้นไปทางทิศเหนือ 52 กิโลเมตร จนถึง พ.ศ. 2333 เมื่อผู้ครองเมืองนครถึงแก่พิราลัย เมืองได้ขอขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร โดยรัชกาลที่ 1 พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “นครพนม” ชื่อนั้นมีข้อสันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองลูกหลวงมาก่อนและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์จึงได้ใช้คำว่า “นคร” ส่วนคำว่า “พนม” ก็มาจากพระธาตุพนมปูชนียสถานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน บ้างก็ว่ามรุกขนครเดิมที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตั้งอยู่ในบริเวณที่มีภูเขาสลับซับซ้อนจึงนำคำว่า “พนม” ซึ่งแปลว่าภูเขามาใช้ ส่วนคำว่า “นคร” ก็เป็นการดำรงชื่อเมืองไว้คือ เมืองมรุกขนคร นครพนมจึงหมายถึง “ เมืองแห่งภูเขา” นั่นเอง 

                 จังหวัดนครพนมมีพื้นที่ประมาณ 5,512 ตางรางกิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 740 กิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 12 อำเภอ  คือ อำเภอเมืองนครพนม ธาตุพนม  นาแก   ท่าอุเทน   เรณูนคร   บ้านแพง  ปลาปาก   ศรีสงคราม   นาหว้า  โพนสวรรค์  นาทม  และวังยาง





อาณาเขต
                 ทิศเหนือ                  ติดต่อกับ อำเภอเซกา จ.หนองคาย
                 ทิศใต้                      ติดต่อกับ อำเภอดงหลวง อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร
                 ทิศตะวันออก         ติดต่อกับเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน
                 ทิศตะวันตก           ติดต่อกับ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร
 การเดินทาง
             รถยนต์  จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ถึงสระบุรี บริเวณ กิโลเมตรที่ 107 แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ ผ่าน จังหวัดนครราชสีมา ถึง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านจังหวัดมหาสารคาม ทางหลวงหมายเลข 213 แยกขวาเข้าสู่ จังหวัดกาฬสินธุ์และผ่าน จังหวัดสกลนคร ตรงเข้าสู่ จังหวัดนครพนม ตามทางหลวงหมายเลข 22 รวมระยะทางประมาณ 740 กิโลเมตร
                 รถโดยสารประจำทาง 
บริษัท ขนส่ง จำกัด เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครพนม มีรถโดยสารปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ทุกวัน ติดต่อสอบถามที่ บริษัท ขนส่ง กรุงเทพฯ โทร.0 2936 0657 /บริษัท ขนส่งนครพนม โทร.0 4251 1403 
สำหรับ บริษัทของเอกชน ติดต่อ บริษัท นครชัยแอร์ http://www.nca.co.th  หรือโทร 1624
บริษัท ชัยสิทธิ์ โทร.0 4252 0561 และบริษัท เชิดชัยทัวร์ โทร.0 4251 2098
                 การเดินทางในตัวเมือง ยังไม่มีรถโดยสารประจำทางหรือรถสองแถว มีเพียงรถสามล้อเครื่อง         (สกายแล็บ) ราคาแล้วแต่จะตกลงกัน ส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่ราคา 20 - 60 บาท
                 เครื่องบิน สายการบินนกแอร์  เปิดบริการเที่ยวบินจากสนามบินดอนเมือง ไปจังหวัดนครพนม ทุกวัน สอบถามรายละเอียด โทร. 0 4253 1525 หรือ (1318)   
              สายการบินแอร์เอเชีย  เปิดบริการเที่ยวบินจากสนามบินดอนเมือง ไปจังหวัดนครพนม ทุกวัน        โทร. 0 4258 7212 หรือ 0 2515 9999
                 การเดินทางจากสนามบิน เข้ามาในตัวเมืองนครพนม มีรถตู้ให้บริการที่สนามบินเข้าตัวเมืองนครพนม ค่าโดยสาร คนละ 100 บาท  ติดต่อสอบถาม บริษัท นครโคราช โทร. 0 4252 2222 หรือ 08 1872 1215


ระยะทางจากตัวเมืองนครพนมไปยังอำเภอต่าง ๆ
                 ท่าอุเทน                    26        กิโลเมตร
                 ปลาปาก                   44        กิโลเมตร
                โพนสวรรค์                 45        กิโลเมตร
                 เรณูนคร                    51        กิโลเมตร
                 ธาตุพนม                  52        กิโลเมตร
                 ศรีสงคราม               67        กิโลเมตร
                 นาแก                      78        กิโลเมตร
                 วังยาง                      80        กิโลเมตร
                 บ้านแพง                   93        กิโลเมตร
                 นาหว้า                      93        กิโลเมตร
                 นาทม                        130     กิโลเมตร
โดย อัครเดชา ฮวดคันทะ
เมืองนครพนม ภาพโดย อัครเดชา ฮวดคันทะ


ระยะทางจากจังหวัดนครพนมไปยังจังหวัดใกล้เคียง
             สกลนคร                      93    กิโลเมตร
             มุกดาหาร                   104    กิโลเมตร
             อุบลราชธานี               271     กิโลเมตร
             ขอนแก่น                    298     กิโลเมตร
                 หนองคาย                   303   กิโลเมตร



สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
 
อำเภอเมืองนครพนม
 
                 วัดโอกาสศรีบัวบาน ตั้งอยู่บนถนนสุนทรวิจิตร ตรงข้ามด่านท่าเรือนครพนม-คำม่วน เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ บริเวณกลางวัดจะมีหอประดิษฐานพระติ้วกับพระเทียมอยู่คู่กัน พระติ้ว เป็นพระพุทธรูปปางเพชรมารวิชัย ทำด้วยไม้ติ้วบุทองคำ ขนาดหน้าตักกว้าง 30 ซม. สูง 60 ซม.  สร้างโดยเจ้าผู้ครองนครศรีโคตรบูร เมื่อ พ.ศ. 1328 ส่วน พระเทียม มีลักษณะและขนาดเดียวกับพระติ้ว สร้างในสมัยพระเจ้าขัติยวงศา ปัจจุบันได้นำ พระแทน มาประดิษฐานแทนที่ พระเทียม  


                 วัดศรีเทพประดิษฐาราม ตั้งอยู่บนถนนศรีเทพ เยื้องโรงเรียนชุมชนเทศบาล 3 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2402 ภายในโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนังรูปพุทธประวัติ เป็นที่ประดิษฐานของ พระแสง ซึ่งตามตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นพร้อมกับ พระศุกร์ พระเสริม และหลวงพ่อพระใส (วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย) ข้างๆ โบสถ์มีเจดีย์บรรจุอัฐิ และพิพิธภัณฑ์ หลวงปู่จันทร์ เขมมิโย (พระเทพสิทธาจารย์)  พระเกจิอาจารย์ที่ชาวนครพนมเคารพนับถือ และที่น่าชมอีกอย่างหนึ่งคือ อาคารที่สร้างขึ้นใน พ.ศ.2464 ซึ่งได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมในด้านปูชนียสถานและวัดวาอาราม จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ 


                 วัดมหาธาตุ  ตั้งอยู่บนถนนสุนทรวิจิตร วัดมหาธาตุสร้างในปี พ.ศ.1150 โดยพระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) แม่ทัพใหญ่ที่มาจากเวียงจันทน์ มีพระธาตุนครลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างประมาณ 5.85 เมตร สูงประมาณ 24 เมตร เป็นปูชนียสถานสำคัญประดิษฐานอยู่ซึ่งเป็นพระธาตุประจำวันเกิดผู้ที่เกิดวันเสาร์ เชื่อกันว่าผู้ที่มานมัสการพระธาตุแห่งนี้ จะได้รับอานิสงส์เสริมบารมีและมีอำนาจวาสนาเป็นเจ้าคนนายคนและยังมีโบสถ์เก่าแก่สวยงามมาก  







                 วัดนักบุญอันนา หนองแสง ตั้งอยู่บนถนนสุนทรวิจิตร  เลียบเขื่อนหน้าเมืองนครพนม สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469) โดยคุณพ่อเอทัวร์...นำลาภ..อธิการโบสถ์ วัดนักบุญอันนาเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นเมืองที่มีคนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ เป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามแปลกตา ในช่วงก่อนวันคริสต์มาส ชาวคริสต์แต่ละชุมชนจะประดิษฐ์ดาวรูปแบบต่าง ๆ แล้วแห่มารวมกันไว้ที่นี่






                 วัดโพธิ์ศรี  ตั้งอยู่บนถนนสุนทรวิจิตร เลียบริมแม่น้ำโขง ภายในกุฏิเจ้าอาวาสเป็นที่ประดิษฐานพระทอง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองสำริด ปางมารวิชัย ที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระพุทธรูปโบราณสกุลช่างล้านช้าง ตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้น  ปัจจุบันทุก 15 ค่ำ เดือนหกจะนิมนต์มาตั้งไว้ที่หน้าโบสถ์ให้ชาวบ้านมาสรงน้ำ และทุกๆปีของวันออกพรรษา ชาวบ้านห้อมจะมาทอดปราสาทผึ้งที่วัดนี้



             สวนหลวง ร.๙ จังหวัดนครพนม  ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนครพนมทางด้านทิศเหนือ (ถนนนครพนม-ท่าอุเทน) ใกล้หน่วยเรือ  นรข. สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชสักการะ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เป็นสวนสาธารณะที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน
            












 เขื่อนหน้าเมืองนครพนม ตั้งอยู่บนถนนสุนทรวิจิตร เลียบริมแม่น้ำโขง เป็นสถานที่พักผ่อนของชาวเมืองนครพนม และเป็นจุดชมทิวทัศน์พระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตกที่สวยงามริมแม่น้ำโขง บริเวณเขื่อนหน้าเมืองนครพนมนี้อยู่ตรงข้ามกับเมืองท่าแขก  แขวงคำม่วน  สปป.ลาว

                 หาดทรายทองศรีโคตรบูร ตั้งอยู่บนถนนสุนทรวิจิตร เลียบริมแม่น้ำโขง เป็นหาดทรายน้ำจืดที่สวยงามมากแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ในฤดูแล้ง (ราวเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม) หาดทรายจะยื่นออกไปกลางลำน้ำโขง หาดทรายนี้จะอยู่ตรงข้ามกับแผนกท่องเที่ยวแขวงคำม่วน สปป.ลาว  

             พิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าฯ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม ถนนสุนทรวิจิตร ทางด้านทิศเหนือ เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ได้รับอิทธิพลการก่อสร้างจากฝรั่งเศสช่วงสมัยสงครามอินโดจีน มีอายุเก่าแก่มากแต่ ภายในจัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวของจังหวัดนครพนม ตั้งแต่ อดีต ถึง ปัจจุบัน รวมถึงประเพณีไหลเรือไฟหนึ่งเดียวของประเทศไทยด้วย  เปิดบริการให้นักท่องเที่ยวเข้าชม   วันพุธ–อาทิตย์  (เวลา  09.00 น.- 17.00 น.)  โทร.0 4251 1574 หรือ 08 5853 8503


                 ล่องเรือสำราญแม่น้ำโขงนครพนม  ท่าเรือตั้งอยู่เขื่อนริมแม่น้ำโขงของลานกันเกรา หน้าตลาดอินโดจีน ถนนสุนทรวิจิตร เป็นกิจกรรมหนึ่งที่นักท่องเที่ยวสามารถชื่นชมบรรยากาศความงดงามของ 2 ฝั่งแม่น้ำโขง เรือจะเริ่มล่องออกจากฝั่งหน้าตลาดอินโดจีนไปทางทิศเหนือ ผ่านหอนาฬิกา ชุมชนเมืองเก่า ชมทิวทัศน์ ทิวเขาฝั่งลาว จนถึงวัดนักบุญอันนา จากนั้นวนกลับเลาะริมฝั่งลาว ผ่าน ด่าน ตม.ลาว โรงแรมริเวอร์เรีย  โรงแรมแม่น้ำโขง  และแผนกท่องเที่ยวแขวงคำม่วน  ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง  ค่าโดยสาร คนละ  50  บาท หรือเหมาลำ  1,000 บาท รับผู้โดยสารได้ประมาณ 60 คน ติดต่อสอบถามได้ที่ เทศบาลเมืองนครพนม โทร. 0 4251 1535, 08 1392 1251 0862305560

          หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์  ตั้งอยู่บนถนนสุนทรวิจิตร เป็นสิ่งที่ชาวเวียดนามสร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ชาวนครพนม เมื่อคราวย้ายกลับปิตุภูมิประเทศเวียดนาม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2503 สูงประมาณ 50 เมตร 
            ถนนคนเดินนครพนม  ตั้งอยู่บริเวณชุมชนย่านหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์  ถนนสุนทรวิจิตร นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสวิถีชีวิตชาวเมืองนครพนม  เลือกซื้อสินค้า เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ อาหาร และถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ณ ลานคนเมืองนครพนม เปิดทุกวันศุกร์และเสาร์ ตั้งแต่เวลา 17.30 น.เป็นต้นไป 




หมู่บ้านมิตรภาพไทย-เวียดนาม บ้านนาจอก ตั้งอยู่ที่ 32 หมู่ 5 หมู่บ้านหนองญาติ ตำบลหนองญาติ ห่างจากตัวเมืองนครพนม 5 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 22 เส้นนครพนม-สกลนคร ตรงหลักกิโลเมตรที่ 238 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าบ้านนาจอกประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่นายโฮจิมินห์ อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้เคยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อกอบกู้เอกราชของเวียดนาม ระหว่างปี พ.ศ.2467 – 2474 หมู่บ้านนี้จะปลูกต้นไม้รอบบ้านอย่างร่มรื่น เช่น ต้นหมาก พลู กล้วย ใบชาและมะเฟือง ติดต่อสอบถามโทร.0 4252 2430 

 นอกจากนี้ยังมี พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านมิตรภาพไทย–เวียดนาม” จัดนิทรรศการการแสดงประวัติการทำงานและการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ของท่านโฮจิมินห์ และนักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสชีวิตของชุมชนชาวไทยเชื้อสายเวียดนามได้ที่ “นาจอกโฮมสเตย์” ติดต่อสอบถาม นางสมจิตร อรรถวรวินิจ โทร. 08 9713 0261 


สถานที่จัดแสดงโลกของปลาแม่น้ำโขง  ตั้งอยู่ ตำบลหนองญาติ ห่างจากตัวเมืองนครพนม ประมาณ 15 กิโลเมตร ตรงข้ามสำนักงานประมงจังหวัดนครพนม เป็นแหล่งรวมพันธ์พันธ์ปลาน้ำจืดของลุ่มน้ำโขง และแม่น้ำสงคราม เปิดบริการ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น. และวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 10.00 – 18.00 น.  ติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์วิทยาศสตร์ กศน.จังหวัดนครพนม


สะพานมิตรภาพ 3 นครพนม - คำม่วน ภาพ โดย โตโต้โสนแย้ม


                  สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3    ตั้งอยู่ บ้านห้อม ตำบลอาจสามารถ ห่างจากตัวเมือง 11 กิโลเมตร อยู่ตรงข้ามบ้านเวินใต้ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว  สะพานยาว 1,423 เมตร กว้าง 13 เมตร มีอาคารด่านควบคุมการผ่านแดนทั้งสองฝั่ง เป็นดั่งประตูเมืองที่จะแสดงให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น ซึ่งอาคารฝั่งไทยได้อันเชิญสัญลักษณ์ พระธาตุพนม มาประดิษฐานไว้ส่วนบนสุดของอาคารสะท้อนเอกลักษณ์พื้นถิ่นซึ่งมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านช้าง บริเวณใต้สะพานยังเป็นที่พักผ่อนและจุดชมทิวทัศน์ทิวเขาฝั่งลาว นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปเที่ยวที่เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน  สปป.ลาว   สามารถเดินทางต่อไปยังประเทศเวียดนามตามถนนเส้นทางหมายเลข 12 นี้ได้ (เข้าสู่เมืองวินห์)  และหมายเลข 8 (เข้าสู่เมืองกวางบิงห์)  สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

            ไทยแสกโฮมสเตย์  ตั้งอยู่ 104 หมู่ 5 หมู่บ้านอาจสามารถ ตำบลอาจสามารถ อยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนมตรงหลักกิโลเมตรที่ 4 ถนนหมายเลข 212 (ถนนนครพนม-ท่าอุเทน) หมู่บ้านวัฒนธรรมชนเผ่าไทยแสกบ้านอาจสามารถ เป็นชนกลุ่มพื้นเมืองที่มีภาษาพูดเป็นของตนเอง แต่ไม่มีภาษาเขียน วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ภาษา การแต่งกาย อาหาร ความเชื่อและพิธีกรรมการละเล่นฯ “แสกเต้นสาก” อาหารพื้นบ้าน ได้แก่ ก้อยปลาอิตุ๊ หลามปลาเพาะ ปลานึ่งห่อใบยอ ลาบเตี้ย แจ่วปลาเพาะ เอ๊าะปลาเพาะ ซุปหน่อไม้ แจ่วมะเขือเครือ แกงหยวก แกงหมากมี่ ทอดปลาส้ม สั่วไก่ ก้อยไข่มดแดง สินค้าของที่ระลึกคือ ตุ๊กตาพื้นเมือง 7 ชนเผ่า เครื่องจักรสาน ผ้าทอสีธรรมชาติ ศึกษาดูงานติดต่อสอบถามประธานกลุ่มโฮมสเตย์ คุณพุทธพันธ์ โทร.08 4517 5905

อำเภอท่าอุเทน
 
                 พระธาตุท่าอุเทน  พระธาตุประจำผู้ที่เกิดวันศุกร์ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง  ใกล้กับที่ว่าการอำเภอท่าอุเทน องค์พระธาตุก่ออิฐถือปูนเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมคล้ายพระธาตุพนม  สร้างเป็น 3 ชั้น ชั้นแรกเป็นอุโมงค์บรรจุของมีค่าต่าง ๆ ชั้นที่ 2 สร้างครอบอุโมงค์ ชั้นที่ 3 คือ เจดีย์องค์ใหญ่ สูงประมาณ 15 เมตร พระอาจารย์ศรีทัตถ์เป็นผู้สร้าง เมื่อปี พ.ศ.2454 พระธาตุนี้เป็นศิลปกรรมและปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งองค์หนึ่ง บรรจุพระธาตุของพระอรหันต์ ซึ่งได้อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง มีการจัดงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 13 ค่ำ ถึงแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี ผลจากการนมัสการมีอานิสงส์ให้ชีวิตมีแต่ความรุ่งโรจน์เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ขึ้นยามรุ่งอรุณ การเดินทาง จากตัวเมืองนครพนมไปตามทางหลวงหมายเลข 212 เส้นทางนครพนม – บ้านแพง ห่างจากตัวเมืองนครพนมประมาณ 26 กิโลเมตร
                 พระบางวัดไตรภูมิ   ประดิษฐานอยู่ที่วัดไตรภูมิ หน้าเขื่อนริมโขง ตำบลท่าอุเทน เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร พุทธศิลปะแบบลาว สูง 80 นิ้ว ประดิษฐานอยู่บนฐานรูป 8 เหลี่ยม สูง 15 นิ้ว รองรับด้วยรูปช้าง 8 เชือก  สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2008 เชื่อกันว่าถ้านำออกมาแห่จะทำให้ฝนตก  
                 แหล่งเรียนรู้รอยเท้าไดโนเสาร์  ตั้งอยู่ที่ห้วยด่านชุม ริมทางหลวงหมายเลข 212  ท่าอุเทน-บ้านแพง กิโลเมตรที่ 257 พื้นที่ถูกค้นพบเมื่อ ปี พ.ศ. 2547 เป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ขนาดเล็ก กลุ่มออนิโธมิโนซอร์ ลักษณะคอเรียวเล็กยาว เดินด้วยสองขา มีนิ้วเท้าสามนิ้วคล้ายนกกระจอกเทศ และยังมีรอยอิกัวโนดอน (Iguanodon) รวมทั้งรอยเท้าจระเข้ขนาดเล็กอายุประมาณ 100 ล้านปี เกือบ 200 รอย สอบถามข้อมูลได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลพนอม อำเภอท่าอุเทน โทร.0 4253 8481

                 กลุ่มสหกรณ์ปั้นดินเผาบ้านโนนตาล  ตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 บ้านกลาง ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน ห่างจากตัวจังหวัด 33 กิโลเมตร มีหนองกุดค้าว พื้นที่ ๆ มีบ่อดินเหนียวแห่งเดียวใน จังหวัดนครพนม มีการทำเครื่องปั้นดินเผาอันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีการสืบทอดต่อกันมาราว 150 ปี และได้เริ่มก่อตั้งกลุ่มปั้นดินเผาขึ้นตามแนวทางโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ เมื่อปี พ.ศ. 2544 สมัยก่อนจะใช้วิธีทุบ ร่อนดิน และนวดด้วยเท้า แต่ปัจจุบันมีการประดิษฐ์เครื่องมือเพื่อช่วยประหยัดเวลามากขึ้น แต่ยังคงใช้มือช่วยในการขึ้นทรงของผลิตภัณฑ์บางแบบ การผลิตสามารถทำได้ทั้งปี โดยเฉพาะช่วงมกราคม-เมษายน อากาศแห้งสะดวกต่อการผลิตมากที่สุด สามารถเยี่ยมชมกระบวนการผลิตและแลกเปลี่ยนความรู้ของภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ที่ คุณพิเชษฐ์ จิตปัญญา ประธานกลุ่มฯ 08 6148 4613 และคุณดวงมณี เดชสอน ที่ปรึกษากลุ่มฯ 08 1450 9119
                 บ้านไชยบุรี เมืองท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์          
             “วันเดียวเที่ยว 7 วัด” มีรถนำเที่ยวพร้อมมัคคุเทศก์บรรยาย โดยเริ่มจาก วัดศรีสุนันทามหาอาราม วัดมหาอุตมะนันทะอาราม วัดศรีบุญเรือง วัดยอดแก้ว วัดป่านิเวศน์ แวะชื่นชมพระบารมีตามรอยเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมค่ายตำรวจตระเวนชายแดน (หมวดมวลชนสัมพันธ์) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าราชินีนาถ ชมบ่อน้ำโบราณอายุ 100 ปี ต่อด้วยวัดโพธิ์ชัย สิ้นสุดที่วัดไตรภูมิ
             “จุดชมวิวแม่น้ำสองสีณ ปากแม่น้ำสงคราม มีอาคารบรรยายประวัติความเป็นมา วิถีชีวิตคนกับสายน้ำและจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกของชุมชน ได้แก่ ส้มปลาชะโด  ปลายอ หนังปลาทอด  ติดต่อสอบถามได้ที่ คุณพิชัย เสนจันทร์ฒิไชย โทร.08 1974 1830
                 การเดินทาง จากตัวเมืองนครพนมไปตามทางหลวงหมายเลข 212 เส้นทางนครพนม – บ้านแพง ข้ามสะพานแม่น้ำสงครามแล้วเลี้ยวขวา ห่างจากตัวเมืองนครพนมประมาณ 28 กิโลเมตร

อำเภอศรีสงคราม
                 ศูนย์การเรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมงลุ่มแม่น้ำศรีสงคราม บ้านปากยาม ตั้งอยู่ บ้านปากยาม ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม การทำประมงในแม่น้ำสงครามเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านปากยาม องค์ความรู้ในการประมงที่สั่งสมและสืบทอดมาจากบรรพบุรุษเป็นภูมิปัญญาที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น การถ่ายทอดเรื่องราวโดยการนำเสนอภูมิปัญญาเพื่อปลุกจิตสำนึกในคุณค่าและความสำคัญของท้องถิ่น โดยจัดแสดงเรื่องราวผ่านชีวิตจริงของผู้คนตามบ้านเรือนหรือสถานที่สำคัญในชุมชน เช่น ชีวิตพรานปลา ชีวิตนายฮ้อยเรือกระแซง การทำปลาร้า พ่อค้าปลา การผลิตและใช้เครื่องมือจับปลา สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในชุมชน เป็นต้น สอบถามข้อมูลได้ที่ คุณสุริยา โคตะมี โทร.08 1263 7977
             บ้านท่าบ่อสงคราม ตั้งอยู่ ตำบลท่าบ่อสงคราม อำเภอศรีสงคราม สัมผัสวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง เที่ยวชมหมู่บ้านประมงริมแม่น้ำสงคราม ด้วยการล่องเรือดูวิถีชีวิต หาปลา ทานปลา การศึกษาพืชพันธุ์ตามธรรมชาติ รวมไปถึงเรียนรู้วัฒนธรรมปลาแดก (ปลาร้า) ส้มฟัก ปลาส้ม อันเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพดีของกลุ่มแม่บ้านท่าบ่อสงคราม ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณอึ่ง โทร.08 7215 1358
                 การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 212 จนถึงป้ายบอกทางอำเภอศรีสงคราม เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้น 2032 จากนั้นเลี้ยวซ้ายอีกครั้งเข้าสู่เส้น 2132 เลี้ยวขวาที่ 2 เข้าสู่เส้น 2177 ห่างจากตัวเมืองประมาณ 95 กิโลเมตร

อำเภอบ้านแพง
             อุทยานแห่งชาติภูลังกา   อุทยานแห่งชาติครอบคลุมพื้นที่ของ ตำบลไผ่ล้อม อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนมและ อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย มีเนื้อที่ประมาณ 31,250 ไร่ มีลักษณะเป็นภูเขาทับซ้อนกัน 3 ลูก สลับด้วยเทือกเขาขนาดเล็กสลับซับซ้อนทอดยาวตามแนวลำน้ำโขง สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าดงดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังที่สมบูรณ์มีสัตว์ป่าชุกชุม เป็นต้นกำเนิดของน้ำตก และลำธารน้อยใหญ่หลายสาย ช่วงฤดูท่องเที่ยวระหว่างเดือนพฤษภาคม - กันยายน เป็นช่วงที่มีดอกไม้ กล้วยไม้ป่าและรองเท้านารีบานสะพรั่ง  บนยอดภูลังกา   
สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่
 

 
                 น้ำตกตาดขาม  เป็นน้ำตกที่ไหลเป็นชั้น ๆ จำนวน 4 ชั้น  เฉพาะชั้นสุดท้ายจะมีแอ่งน้ำขังตลอดปี สภาพโดยรอบร่มรื่น และมีลานหินเล็ก ๆ เหมาะสำหรับพักผ่อน รถยนต์สามารถเข้าถึงได้
                 น้ำตกตาดโพธิ์  มีกำเนิดจากเทือกเขาภูลังกา เป็นน้ำตกที่ไหลเป็นชั้นจำนวน 4 ชั้น แต่ละชั้นสูงไม่น้อยกว่า 10 เมตร ชั้นที่ 2 สูงถึง 30 เมตร  การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 212 จากนครพนมแล้วเลี้ยวซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ 214 เข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร ห่างจากน้ำตกตาดขาม ประมาณ 4 กิโลเมตร
                 ทางอุทยานฯ มี เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ภูลังกา 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางแรก เส้นทางสายน้ำตกตาดโพธิ์ - ถ้ำยา ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 1.30 ชั่วโมง เส้นทางที่สอง เส้นทางสายน้ำตกตาดโพธิ์ - ผางอย ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 1.30 – 2.00 ชั่วโมง จุดเด่นของเส้นนี้คือ บนผางอย สามารถชมวิวของพื้นที่อำเภอบ้านแพง และสายน้ำโขงได้ และ เส้นทางที่สาม เส้นน้ำตกตาดโพธิ์-เจดีย์กองข้าวศรีบุญเนาว์ ใช้ระยะเวลา 2 วัน 1 คืน เส้นนี้นักท่องเที่ยวควรเตรียมเต็นท์และเครื่องนอนมาด้วย ส่วนอาหารสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางเพื่อที่จะเตรียมอาหารไว้ให้ จุดเด่นของเส้นนี้คือจะได้ชมดอกไม้ป่า กล้วยไม้ป่า ผีเสื้อ และนกหลายชนิด บนยอดภูลังกายังมี เจดีย์กองข้าวศรีบุญเนาว์ มีลักษณะเป็นลานหินคล้ายกองข้าวนำมากองไว้ และเป็นจุดพิชิตยอดภูลังกาอีกด้วย และยังเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม  (สำหรับนักท่องเที่ยวที่ขึ้นยอดภูลังกาต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทาง และลูกหาบ ที่ที่ทำการอุทยานฯ ล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน)
             สถานที่พัก  อุทยานฯ ภูลังกา มีเต็นท์ไว้สำหรับนักท่องเที่ยว พักได้ 2 - 6 คน และมีสถานที่กางเต็นท์ไว้สำหรับนักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์มาเอง ติดต่อสอบถาม โทร.08 3348 2548, 08 4957 1155
             การเดินทาง รถยนต์ จากตัวเมืองนครพนมใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 212 เส้นนครพนม-บ้านแพง ระยะทางประมาณ 105  กิโลเมตรและเลี้ยวซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ 220 ห่างจากตัว อำเภอบ้านแพงประมาณ 6 กิโลเมตร รถโดยสารประจำทาง  มีรถออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร  สายกรุงเทพฯ-บ้านแพง มาลงที่ตัวอำเภอบ้านแพงแล้วนั่งรถมอเตอร์ไซต์รับจ้างมาที่อุทยานฯ ภูลังกา


พระธาตุภูลังกา หรือ เจดีย์กองข้าวศรีบุญเนา ภาพโดย อัครเดชา ฮวดคันทะ
ภาพ ทิวทัศน์บนภูลังกา นครพนม โดย อัครเดชา ฮวดคันทะ

อำเภอธาตุพนม 
 
 
บรรยากาศงานนมัสการพระธาตุพนม ภาพโดย โตโต้โสนแย้ม

                 พระธาตุพนม  เป็นพระธาตุประจำผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ และผู้ที่เกิดปีวอก ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีลงความเห็นว่าพระธาตุพนมสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.1200 – 1400 ตามตำนานกล่าวว่าผู้สร้างคือ พระมหากัสสปะ พระอรหันต์ 500 องค์ และท้าวพระยาเมืองต่าง ๆ ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ลักษณะของสถาปัตยกรรมมีแหล่งที่มาที่เดียวกันกับปราสาทของขอม และได้ทำการบูรณะเรื่อยมา ในปี พ.ศ.2485 ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกขึ้นเป็น “วรมหาวิหาร”
                 พระธาตุพนมไม่เพียงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครพนมเท่านั้น พระธาตุพนมยังเป็นที่เคารพของชาวไทยภาคอื่น ๆ และชาวลาวอีกด้วย ว่ากันว่าถ้าใครได้มานมัสการพระธาตุครบ 7 ครั้ง จะถือว่าเป็น “ลูกพระธาตุ” เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและจะมีความเจริญรุ่งเรือง หรือแม้แต่การได้มากราบพระธาตุพนม 1 ครั้ง ก็ถือเป็นมงคลแก่ชีวิตแล้ว
                      ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 เวลา 19.38 น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งองค์ เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนมและประจวบกับระหว่างนั้นฝนตกพายุพัดแรงติดต่อกันมาหลายวัน ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม การก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2522 นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุเป็นฉัตรทองคำที่มีน้ำหนักถึง 110 กิโลกรัม ปัจจุบันองค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53.60 เมตร เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูงแลดูสง่างาม งานนมัสการองค์พระธาตุเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี  การเดินทาง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 53 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 212  นครพนม-มุกดาหาร หรือจากสถานีขนส่งใน อำเภอเมือง มีรถปรับอากาศ รถธรรมดา และรถตู้ปรับอากาศ (นครพนม-มุกดาหาร) ไปยังวัดพระธาตุพนม   
                 วัดหัวเวียงรังษี  ตั้งอยู่ 886 ถนนพนมพนารักษ์  หมู่ 2 ตำบลธาตุพนม อยู่ริมฝั่งเขื่อนแม่น้ำโขง เป็นวัดเก่าแก่ พระอุโบสถสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2460 - 2464 ภายในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนโดยหลวงชาญ ช่างเขียนจากกรุงเทพฯ ราวปี พ.ศ. 2463 – 2464  ภาพโค้งเหนือประตูหน้าต่าง มีพระอธิการอินทร์เป็นผู้ร่างภาพ และอาจารย์คูณเป็นผู้ระบายสี ซึ่งเป็นสกุลช่างหลวงได้ใช้เทคนิคสีฝุ่น เรื่องราวเล่าเกี่ยวกับทศชาติชาดก พุทธประวัติรามเกียรติและลักษณะวงศ์ที่สำคัญ ทั้งได้สอดแทรกความนิยมในท้องถิ่นเอาไว้ ผสมผสานกับความสามารถของช่างเขียนไว้อย่างงดงาม บรรยากาศของภาพโดยรวมมองดูคล้ายกับเป็นงานวาดเส้น (Drawing) มากกว่าจะเป็นงานจิตกรรมที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกด้วยสี ซึ่งการใช้สีของช่างเขียนที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น สีคราม สีแดง สีเขียว สีดำ แต่ก็สามารถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกได้เป็นอย่างดี


                หาดแห่ บ้านน้ำก่ำ  เป็นเกาะที่เกิดกลางแม่น้ำโขง ห่างจากฝั่ง ประมาณ 0.5 กิโลเมตร หัวหาดมีหาดทรายทอดยาวไปตามแนวเกาะ ลักษณะเด่นอีกหนึ่งอย่างคือตรงหาดเป็นทรายปนหินแห่ (หินกรวด) จึงทำให้น้ำใส และระดับน้ำบริเวณหัวหาดไม่ลึกมาก ความพิเศษอยู่ที่เราสามารถลงเที่ยวหาดแห่งนี้เฉพาะฤดูร้อนเท่านั้น บริเวณหัวหาดนั้น มีร้านอาหารซึ่งเป็นการรวมตัวกันของชาวบ้านน้ำก่ำ แต่ละร้านจะบริการที่จอดรถ และเรือข้ามฟากฟรี อาหารส่วนใหญ่เป็นปลาแม่น้ำโขง มีกิจกรรมอื่นๆ อาทิ ซุ้มคาราโอเกะ บริการห่วงยาง บานาน่า โบ้ท และเจ็ทสกี และในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เทศบาลร่วมกับชาวบ้านน้ำก่ำสร้างสะพานไม้ไผ่ข้ามฟาก ซึ่งจะคิดค่าบริการเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ท่านละ 20 บาท    การเดินทาง จากวัดพระธาตุพนม ใช้ถนนเลาะเรียบริมฝั่งโขงไปประมาณ 7 กิโลเมตร ใกล้กับ เทศบาลตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม

อำเภอเรณูนคร 
             พระธาตุเรณู  เป็นพระธาตุประจำผู้ที่เกิดวันจันทร์ ประดิษฐานอยู่วัดพระธาตุเรณู องค์พระธาตุจำลองมาจากองค์พระธาตุพนมองค์เดิม แต่มีขนาดเล็กกว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2461 โดยพระอุปัชฌาย์อินภูมิโย สูง 35 เมตร กว้าง 8.37 เมตร มีซุ้มประตู 4 ด้าน ภายในเป็นโพรงบรรจุพระไตรปิฎก พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน ของมีค่า และเครื่องกกุธภัณฑ์ของพระยาและเจ้าเมือง นอกจากนี้ภายในโบสถ์ยังประดิษฐานพระองค์แสน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำศิลปะแบบลาว ปางสมาธิ พระคู่บ้านของ อำเภอเรณูนคร อานิสงส์ของการนมัสการส่งผลให้มีวรรณะงดงามผุดผ่องดังแสงจันทร์
งานเทศกาลสงกรานต์ ผู้ไทย ที่ อ.เรณูนคร ภาพ โดย อัครเดชา ฮวดคันทะ

                 เรณูนคร เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวผู้ไทย ซึ่งยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นไว้เป็นอย่างดี อาทิ ธรรมเนียมการต้อนรับด้วยการบายศรีสู่ขวัญ การเลี้ยงอาหารแบบพาแลง การชวนดูดอุ การฟ้อนผู้ไทยนับเป็นการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมแบบพื้นเมืองอย่างหนึ่งของชาวผู้ไทยที่ได้รับการถ่ายทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน ในสมัยก่อนเรียกการฟ้อนรำแบบนี้ว่า “ฟ้อนละครไทย” เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความสามัคคีในหมู่คณะเดียวกัน โดยการจับกลุ่มเล่นฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนานในงานเทศกาลเดือนห้าและเดือนหก ซึ่งจะมีประเพณีบุญบั้งไฟและมีการเฉลิมฉลองเพื่อนมัสการองค์พระธาตุเรณู สมัยก่อนนั้น เป็นการฟ้อนรำตามความถนัดของแต่ละบุคคล เน้นลีลาท่าฟ้อนรำต่าง ๆ ที่แสดงออกมา ไม่ได้เน้นความความพร้อมเพรียงกัน ส่วนมากเป็นผู้ชายล้วน ๆ จับกลุ่มฟ้อนรำกันเพื่ออวดสาว ๆ ปัจจุบันเป็นการฟ้อนรำของหญิงชายคู่กัน โดยยึดการรำแบบดั้งเดิมเป็นหลัก นับเป็นศิลปะที่สวยงามละเอียดอ่อนหาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน ติดต่อสอบถามข้อมูลและการแสดงฟ้อนผู้ไทยได้ที่ เทศบาลตำบลเรณู              0 4257 9239
 
ภาพประกวดเทพีสงกรานต์ เรณูนคร โดย อัครเดชา ฮวดคันทะ
                 การเดินทาง อยู่ห่างจากพระธาตุพนม 15 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดนครพนมไปทางใต้ 51 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 212 ถึงประมาณ กม.ที่ 44 เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 2031 อีกประมาณ 7 กิโลเมตร



พระธาตุศรีคุณ ภาพโดย อัครเดชา ฮวดคันทะ

อำเภอนาแก   
                 พระธาตุศรีคุณ  เป็นพระธาตุประจำผู้ที่เกิดวันอังคาร ประดิษฐานที่วัดพระธาตุศรีคุณ เป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอนาแก ลักษณะส่วนบนของพระธาตุคล้ายพระธาตุพนม ต่างกันตรงที่ชั้นที่ 1 มี 2 ตอน เป็นรูปสี่เหลี่ยม ประดับลวดลายปูนปั้นและชั้นที่ 2 สั้นกว่าพระธาตุพนม อานิสงส์ของการนมัสการส่งให้เกิดยศ ศักดิ์ศรี โชคลาภเป็นทวีคูณ การเดินทาง ห่างจาก อำเภอธาตุพนม ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 212 แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 223 ประมาณ 20 กิโลเมตร ถึง อำเภอนาแก และเลี้ยวซ้ายถึงวัดพระธาตุศรีคุณ ห่างจากตัวอำเภอเมือง 78 กิโลเมตร
                 วัดภูถ้ำพระ  อยู่ห่างจากบ้านนาแกน้อย 6 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานเจดีย์ปราสาททอง  บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ เดิมเป็นวัดที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ ใช้เป็นที่ปฏิบัติธุดงค์กรรมฐาน
 
วัดภูพานอุดมธรรม ภาพโดย อัครเดชา ฮวดคันทะ
           
 
วัดภูพนอุดมธรรม ภาพโดย อัครเดชา ฮวดคันทะ

  วัดภูพานอุดมธรรม ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน บริเวณอุทยานแห่งชาติภูผายล ห่างจากอำเภอนาแกประมาณ 6 กิโลเมตร (เข้าทางเดียวกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง นครพนม) ทางขึ้นค่อนข้างลาดชันคดเคี้ยว ภายในวัดมีศูนย์ปฏิบัติธรรม มีการสร้างองค์จำลอง 7 พระธาตุประจำวันเกิดของจังหวัดนครพนม และมีพระพุทธมหามงคลบพิตรจัตุรทิศประทานพร ที่พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันสร้างถวาย นอกจากนี้ยังมี ดานสาวคอย (คำว่า ดาน ในภาษาอีสานหมายถึง ลาน) มีพื้นที่ลักษณะเป็นลานหินเรียบ มีต้นไม้เบญจพรรณขึ้นประปราย เมื่อขึ้นถึงลานหินนี้แล้วสามารถมองเห็นยอดพระธาตุพนม ความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้เนื่องมาจากหนุ่มสาวชาวบ้านสมัยก่อนเวลาจะไปหาของป่าจะนัดหมายมาคอยกันที่ลานหินนี้เป็นประจำ หรือมาเที่ยวชมความงามโดยฝ่ายสาวจะมาเป็นผู้คอย  จึงได้ชื่อว่า “ดานสาวคอย”  
วัดภูพานอุดมธรรม ภาพโดย อัครเดชา ฮวดคันทะ

อำเภอปลาปาก

 

                 พระธาตุมหาชัย  เป็นพระธาตุประจำผู้ที่เกิดวันพุธ ประดิษฐานอยู่วัดพระธาตุมหาชัย ตำบลมหาชัย องค์พระธาตุสูง 37 เมตร เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันต์สารีริกธาตุ ภายในพระอุโบสถนอกจากพระประธานคือ พระพุทธไชยสิทธิ์แล้ว ยังมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติสลักจากไม้ต้นสะเดาหวานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และภาพเขียนบนฝาผนังอุโบสถแสดงพุทธประวัติ มีลวดลายศิลปกรรมที่งดงามมากในภาคอีสาน
                 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่พระธาตุมหาชัย เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ตรงกับวันวิสาขบูชา และที่วัดนี้ยังเคยเป็นที่จำพรรษาของพระสุนทรธรรมมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ) พระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนาที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวนครพนมและชาวอีสานทั่วไป อานิสงส์การนมัสการส่งให้ได้ประสบชัยชนะ ให้ชีวิตมีแต่ความรุ่งโรจน์ การเดินทาง ห่างจากอำเภอเมือง 39 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 22 ถนนนิตโย (กิโลเมตรที่ 201-202 เลี้ยวซ้ายเข้าวัดอีกประมาณ  3 กิโลเมตร) 

อำเภอนาหว้า

                 พระธาตุประสิทธิ์  เป็นพระธาตุประจำผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุประสิทธิ์ เป็นที่บรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้า อานิสงส์ของการนมัสการส่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการงาน ก้าวหน้าสมดังประสงค์ การเดินทาง ห่างจาก อำเภอเมืองนครพนม 98 กิโลเมตร สามารถเดินทางจากตัวเมืองนครพนมไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข  212 ผ่าน อำเภอท่าอุเทน ถึงทางหลวงหมายเลข 2032  แยกซ้ายมือเข้า อำเภอศรีสงคราม-อำเภอนาหว้า  ระยะทางประมาณ 72 กิโลเมตร หรือจากจังหวัดสกลนคร ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้า อำเภอนาหว้า ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2346 
ขอขอบคุณภาพ จาก Face book บ้านท่าเรือ หมู่บ้านแห่งเสียงแคน
                 บ้านท่าเรือ ตั้งอยู่ที่ 78 หมู่ 1 ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า เป็นแหล่งการผลิตและจำหน่าย เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานได้แก่ พิณ โหวต โดยเฉพาะแคน มาเป็นเวลานาน ซึ่งชาวบ้านยังคิดค้นแคนที่สามารถเล่นกับเครื่องดนตรีสากลได้ สำหรับเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอีกด้านของบ้านท่าเรือ ที่นับเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาควบคู่กับการทำเครื่องดนตรี คือ การทอผ้าไหมคุณภาพ ซึ่งศูนย์หัตถกรรมบ้านท่าเรือ ได้รับรางวัลพระราชทานจากการประกวดผ้าไหมมากที่สุด และบ้านท่าเรือยังเป็นศูนย์ศิลปาชีพแห่งแรกที่ตั้งขึ้นในประเทศไทย เมื่อ ปีพ.ศ. 2520 ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร.0 4253 3504, 08 0740 6563


เทศกาลงานประเพณี
                 งานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม  (ภาษาอีสาน เรียกว่า เฮือไฟ)  จัดขึ้นในวันออกพรรษา คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดริมแม่น้ำโขงบริเวณเขตเทศบาล การไหลเรือไฟถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลก หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ดาวดึงษ์ เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดาเมื่อออกพรรษาแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จลงมาสู่มนุษย์โลก โดยบันไดทิพย์ทั้ง 3 วันนี้เรียกว่า “วันพระเจ้าโปรดโลก” พระองค์เสด็จมา ณ เมืองสังกัสสะ สถานที่นั้นเรียกว่า “อจลเจดีย์” (อ่านว่า อะ-จะ-ละ-เจ-ดี) ทวยเทพทั้งหลายส่งเสด็จ มวลมนุษย์ทั้งหลายรับเสด็จด้วยเครื่องสักการะบูชามโหฬาร การไหลเรือไฟก็คือ การสักการะบูชาอย่างหนี่งในวันนั้น ได้ถือปฏิบัติประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ เดิมเรือไฟทำด้วยท่อนกล้วยหรือไม้ไผ่ต่อเป็นลำเรือยาวประมาณ 5 - 6 วา ข้างในบรรจุไว้ด้วยขนม ข้าวต้มมัด หรือสิ่งของที่ต้องการจะบริจาคทาน ข้างนอกเรือมีดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสวก่อนจะปล่อยเรือไฟ ปัจจุบันมีการจัดทำเรือไฟเป็นรูปแบบต่าง ๆ ที่ขนาดใหญ่โตขึ้น มีวิธีการประดับตกแต่งให้วิจิตรตระการตามากยิ่งขึ้น เมื่อปล่อยเรือไฟเหล่านี้ลงกลางลำน้ำโขงภายหลังการจุดไฟให้ลุกโชติช่วงจะเป็นภาพที่งดงามประทับใจผู้พบเห็น
             งานนมัสการพระธาตุพนม  กำหนดจัดขึ้นในวันขึ้น 10 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี มีการอัญเชิญและแห่พระอุปคุต มีพิธีรำบูชาองค์พระธาตุพนม จากสาวงามทั้ง 7 เผ่า ซึ่งถือเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่ง งานหนึ่งของชาวนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง
                 ประเพณีแสกเต้นสาก  เป็นประเพณีของชนเผ่าแสกบ้านอาจสามารถ  ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนมประมาณ 4 กิโลเมตร ประเพณีแสกเต้นสากเป็นการเต้นสากบวงสรวงเจ้าที่ ณ ศาลเดนหวังโองมู้ เป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 การแสกเต้นสากนอกเทศกาลจะต้องทำพิธีขอขมาก่อน ของที่ใช้ ได้แก่  หัวหมู  เงิน 20 บาท และเหล้า ซึ่งจะทำพิธีที่ศาลเจ้าประจำหมู่บ้านโดยการเสี่ยงทายไม้สี ถ้าได้สีเดียวกันแสดงว่าเจ้าไม่อนุญาต การเต้น “แสกเต้นสาก” ใช้ไม้สีแดงสลับขาวเรียก “สาก” นำด้วยเสียงกลองจังหวะเร็ว  ผู้เต้นจะซอยเท้าถี่ ๆ ลงไปตามจังหวะการกระทบไม้คล้ายการเต้นลาวกระทบไม้แต่จะเร็วกว่ามาก ติดต่อสอบถาม องค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถ โทร.0 4259 3123
                 ประเพณีโส้ทั่งบั้ง  เป็นประเพณีของชาวโซ่ (โส้) จะจัดขึ้นในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 (ปีใหม่ไทยโส้) การรำโส้ทั่งบั้ง ถือเป็นวิถีชีวิตขิงคนเผ่าโส้ที่มีคุณค่าต่อประเพณีและวัฒนธรรม เป็นการแสดงกตัญญูต่อบรรพบุรุษและแสดงความรักความสามัคคีในหมู่เหล่า การเต้นรำมีทั้งชายและหญิง โซ่เป็นชนเผ่าข่า ลักษณะผิวคล้ำ มีภาษาเป็นของตนเอง  ภาษาที่ใช้คล้ายภาษามอญปนเขมร หมู่บ้านชาวโส้นี้ตั้งอยู่ที่บริเวณ อำเภอท่าอุเทน อำเภอนาแก อำเภอโพนสวรรค์และอำเภอศรีสงคราม
             งานประเพณีสงกรานต์นครพนม รื่นรมย์ บุญปีใหม่ ไทย-ลาว และถนนข้าวปุ้น บริเวณริมเขื่อน ถนนสุนทรวิจิตร (ริมฝั่งแม่น้ำโขง) อำเภอเมืองนครพนม ร่วมสนุกสนานกับกิจกรรมบน ถนนข้าวปุ้น การเล่นน้ำสงกรานต์การออกร้านข้าวปุ้น (ขนมจีน) การประกวดซุ้มน้ำของชาวคุ้มต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม           เทศกาลสงกรานต์ เรณูนคร  เป็นงานประเพณีที่ยิ่งและงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ด้วยกลิ่นอายวัฒนธรรมพื้นบ้านชาวผู้ไทย ที่อบอวลอยู่ทุกอณูทั้งรูปแบบการแต่งกาย การฟ้อนรำ และกิจกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ของชาวเรณูนคร อันได้แก่ การดูดอุ และเลี้ยงอาหารแบบ “พาแลง”
                 การแข่งเรือ (ส่วงเฮือ) เป็นประเพณีที่จัดขึ้นระหว่างงานบุญออกพรรษา มีความมุ่งหมายให้ชาวบ้านได้สนุกสนานร่วมกันก่อให้เกิดความสามัคคีความเสียสละ และเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนชาวลาวและชาวไทย จัดขึ้นในลำน้ำโขง บริเวณหน้าตลาดอินโดจีน นครพนม มีระยะทางแข่งขัน 2 กิโลเมตร ในร่องน้ำที่ไหลเชี่ยวยากลำบากมากในการแข่งขัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าผู้ชนะคือผู้เก่งที่สุดในแถบลุ่มน้ำโขง
                  

กิจกรรมที่น่าสนใจ
ตัวอย่างโปรแกรมนำเที่ยวจังหวัดนครพนม เส้นทางไหว้พระธาตุประจำวันเกิดเสริมมงคลชีวิต
(2 วัน  1  คืน)
วันแรก
เช้า    นมัสการพระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม พระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีวอก เชื่อกันว่าผู้ที่ไปนมัสการจะได้รับอานิสงส์มีบุญบารมี และผู้คนให้ความเคารพนับถือ     
นมัสการพระธาตุเรณู อำเภอเรณูนคร พระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันจันทร์ เชื่อกันว่าผู้ที่ได้นมัสการจะได้รับอานิสงส์ส่งผลให้มีวรรณะงดงามผุดผ่องดังแสงจันทร์
นมัสการพระธาตุศรีคุณ  อำเภอนาแก พระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอังคาร  เชื่อกันว่าผู้ที่ได้มานมัสการพระธาตุแห่งนี้จะได้รับอานิสงส์ให้มีศักดิ์ศรีทวีคูณ
บ่าย    นมัสการพระธาตุมหาชัย  อำเภอปลาปาก  พระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันพุธ เชื่อกันว่าผู้ที่มา         
            นมัสการจะได้รับอานิสงส์ประสบชัยชนะในชีวิต  มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองนครพนม
เย็น    ล่องโขง มหานทีศรีโคตรบูรณ์   สัมผัสกลิ่นไอเย็นฉ่ำของแม่น้ำโขง  ชมทัศนียภาพอันสวยงามของ
ทิวเขาสลับซับซ้อนฝั่ง สปป.ลาว ชมโบราณสถานและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชนสองฝั่งโขง เยือนพี่น้องลาวแห่งบ้านนาเมือง ผ่านสุสานทหารฝรั่งเศส เลียบเลาะเมืองท่าแขก ถึงด่านท่าแขกจะมองเห็นยอดพระธาตุน้อยของผู้ปกครองอาณานิคมชาวฝรั่งเศส  ผ่านโรงแรมศรีโคตร  อดีตเป็นที่ว่าการอาณานิคม วัดนาโบ โรงแรมสี่ชั้น อาคารคาสิโนเก่า ตลาดเก่า บ้านนายพลสิงคโปร์ ปากห้วยนางลี้  ถึงห้องว่าการ(เก่า) เจ้าแขวงคำม่วน คุกฝรั่งเศส เบนหัวเรือกลับสู่ฝั่งไทย ชมวัดริมฝั่งโขง  ได้แก่  วัดพระอินทร์แปลง วัดมหาธาตุ วัดกลาง วัดโพธิ์ศรี วัดโอกาส ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองนครพนม หอนาฬิกา ลานตะวันเบิกฟ้า โรงเรียนสุนทรวิจิตร ททท.สำนักงานนครพนม จวนผู้ว่าราชการจังหวัด(หลังเก่า) วัดนักบุญอันนา ที่สร้างโดยช่างชาวเวียดนาม เมื่อปี พ.ศ.2469
ชมบรรยากาศของเมืองตอนกลางคืน  ที่บริเวณ วัดโอกาสศรีบัวบาน และ ที่พระธาตุนคร พระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันเสาร์ เชื่อกันว่าผู้ที่มานมัสการพระธาตุแห่งนี้จะได้รับอานิสงส์เสริมบุญบารมีและมีอำนาจวาสนาเป็นเจ้าคนนายคน เพื่อชมความงามการส่องไฟชมโบราณสถาน (Light Up)  ยามค่ำคืนทุกวัน ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 – 21.00 น. เดินทางกลับที่พัก
วันที่สอง
เช้า     ทำบุญใส่บาตรที่ถนนริมเขื่อนแม่น้ำโขง หน้าวัดพระธาตุนคร พร้อมชมความงามของพระอาทิตย์ขึ้น
            ชมบ้านโฮจิมินห์ จำลองบ้านพักของ “ลุงโฮ” หรือ “โฮจิมินห์”  อดีตประธานาธิบดีของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่เคยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อกอบกู้เอกราชของประเทศเวียดนาม ระหว่างปี พ.ศ.2467 - 2474 และ ชมพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านมิตรภาพไทย–เวียดนาม ภายในจัดนิทรรศการการแสดงประวัติการทำงานและการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ของท่านโฮจิมินห์ พร้อมสัมผัสบรรยากาศอันร่มรื่นของหมู่บ้านชาวเวียดเกียวในนครพนม
          นมัสการพระธาตุท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน พระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันศุกร์ เชื่อกันว่าผู้ที่มานมัสการพระธาตุแห่งนี้จะได้รับอานิสงส์ให้ชีวิตมีความรุ่งโรจน์เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ขึ้น
 บ่าย   นมัสการพระธาตุประสิทธิ์  อำเภอนาหว้า  พระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี  เชื่อกันว่าผู้ที่ได้นมัสการพระธาตุแห่งนี้จะได้รับอานิสงส์ส่งผลให้สัมฤทธิ์ผลในการปฏิบัติงาน และชมหมู่บ้าน OTOP  สินค้าหัตถกรรม ไดแก่ พิณ แคน โหวด พร้อมชมการทอผ้าไหม ที่บ้านท่าเรือ          
เย็น      เดินทางกลับกรุงเทพฯ


ข้อปฏิบัติในการยื่นทำบัตรอนุญาตผ่านแดนไปเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
สามารถข้ามได้ทั้งทางสะพาน และทางเรือ
                 ด่านตรวจคนเข้าเมืองนครพนม (ด่านสะพาน) ตั้งอยู่ที่บ้านห้อม เส้นทางนครพนม-ท่าอุเทน เวลาทำการ  06.00 น. – 22.00 น. โดยทางปฏิบัติในการเดินทางเข้า-ออก ณ จุดผ่านแดนถาวร อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม มีรถโดยสารวิ่งระหว่างประเทศ (นครพนม-คำม่วน-นครพนม)  เวลารถโดยสาร 06.00 น.-18.00 น. สามารถขึ้นรถได้ที่ บขส.นครพนม หรือบริเวณเชิงสะพาน โทร. 0 4251 1403 เนื่องจากไทย  ลาวและเวียดนาม ได้มีข้อตกลงกันในการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศ ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะพาน โทร. 0 4253 2676, 0 4253 2644    
                 ด่านตรวจคนเข้าเมืองนครพนม (ด่านท่าเรือ) ตั้งอยู่ที่ถนนสุนทรวิจิตร ใกล้ตลาดอินโดจีน เปิดทำการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. -18.00 น. โดยทางปฏิบัติในการเดินทางเข้า-ออก ณ จุดผ่านแดนท้องถิ่น อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ข้ามได้เฉพาะชาวไทยและลาวเท่านั้น   โทร.0 4251 6208 โดยผู้ยื่นคำขอหนังสือผ่านแดนเพื่อเดินทางไป เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว ต้องยื่นด้วยตัวเองพร้อมเอกสารหลักฐาน  ดังนี้ 
                    -บัตรประจำตัวประชาชน  หมายเลข 13 หลัก ทำหนังสือผ่านแดนได้ที่ ด่านสะพาน และด่านท่าเรือ
                    -ค่าธรรมเนียมในการขอยื่นทำคำร้อง ฉบับละ 30 บาท  (วันจันทร์-ศุกร์) และ 40 บาท  (วันเสาร์- 
                     อาทิตย์)  ค่าธรรมเนียมเข้า สปป.ลาว ด่านท่าเรือ   คนละ 50 บาท   ด่านสะพาน  คนละ  20  บาท
                    -ค่าเรือโดยสาร คนละ 60 บาท/เที่ยว/   ค่ารถโดยสาร คนละ  70  บาท/เที่ยว
                    -สำหรับบุคคลที่ต้องการนำรถยนต์ส่วนตัวข้ามไปยังแขวงคำม่วน  สปป.ลาว  จะต้องนำรถไปทำ             
                      พาสปอร์ตรถ ที่สำนักงานขนส่ง ที่รถจดทะเบียนอยู่
                     สามารถทำหนังสือผ่านแดนได้ที่
                     จุดทำหนังสือผ่านแดน  อาคารตรวจคนเข้าเมืองนครพนม  ชั้น 2  (ด่านสะพาน)
                     จุดทำหนังสือผ่านแดน อาคารตรวจคนเข้าเมืองนครพนม    (ด่านท่าเรือ)

โรงแรมที่พัก
1. นครพนมริเวอร์วิว                          0 4252 2333-40
2. วิวโขง                                           0 4251 3564-70
            3.  ไอโฮเทล                               0 4254 2255-6
            4. ภูธารินทร์รีโซเทล                                0 4250 2199
5. รับพรอินน์                         0 4250 2145 
6. บ้านปันสุข                                    0 4251 1035, 08 1380 9515
            7. ศรีเทพ                                               0 4251 2395
8. เอสพีเรสซิเด็นซ์                             0 4251 3500-3
9. ที ซี อพาร์ทเมนต์                           0 4251 2212
10. ลักกี้                                           0 4251 1274
11. วินเซอร์                                       0 4251 1946, 0 4251 1156
12. แกรนด์                           0 4251 1281, 0 4251 1526
13. เฟิสท์                                         0 4252 0649              
14. ตองเจ็ด                          0 4251 4777
15. เค.เอส. แมนชั่น                           0 4251 6100
16. ชบาแก้ว                          0 4251 5609
            17. กันเกรา เพลส                                   0 4251 5607-8
18. ดาหลารีโนวเทล                           0 4251 4322
            19. บ้านริมโขง                           0 4252 1400
            20. เดอะรูม                               0 4252 1144
            21. เจ.อาร์. แมนชั่น                                0 4251 6355-8
            22. แอดซายน์                            0 4252 1045             
            23. สยามแกรนด์                                    0 4251 2750
24. พัก พิง อิง โขง                             0 4251 1993     
25. จันทร์ส่องหล้า                             0 4250 1399 
26. โกล์ดเมาท์เท้น                             0 4250 3636
            27. บ้านเพื่อน                            08 5756 7171

ร้านอาหาร
1.      สวนอาหารวิวโขง รร.วิวโขง                 0 4252 2314
2.      ลำพูนปลาเผา                                  0 4251 1526
3.      สวนรุ่งเรือง                                      0 4251 1880, 0 4251 2197
4.      ต้นเงิน                                 0 4252 2658, 08 1320 1523
5.      หยาด ลาบไก่งวง                  0 4251 2654
6.      ดาราฝั่งโขง                          08 7866 8319
7.      นวลอนงค์                            0 4252 2139
8.      เฝ๋อ @นครพนม                    08 1592 7957
9.       สุกี้ชาบู 99                          0 4251 4585
10.  พรเทพ อาหารเช้า                 0 4251 1593
11.  บ้านคุณอุ๋ม              08 9412 4868
12.  สวีทโฮม แหนมเนือง 
13.  นางแหนมเนือง                     0 4252 0322
14.  ครัวคลาสสิค                        0 4251 1218
15.  เรือนรับรอง              08 7235 9853
16.  กู๊ดมอร์นิ่งเวียดนาม แหนมเนือง          0 4251 2087
17.  ลิตเติ้ลโตเกียว
18.  นครหลังเขา                         08 6222 9517
19.  โอไฮโอ้ เมอร์แรงค์                 0 4251 4237
20.  โคขุนกระทะใหญ่                  08 5274 1117
21.  ลูกตาล                                0 4251 1456
22.  เยาวราช
23.  น็อต                                    0 4251 1994
24.  สุขโขสโมร                           0 4251 1986
25.  สบายดี@นครพนม                0 4252 0078
26.  อิ่มเอม เนื้อย่าง                     0 4251 1540
27.  ทิวทัศน์                               08 3358 3655
28.  ครัวจำปาสัก                         0 4251 4541
29.  คุณแก้วสเต๊กคอนเนอร์          08 5925 7979
30.  ส้มตำคุณแต๋ว                      0 4251 2626
31.  เสมียน                                0 4251 4535
32.  ชมจันทร์                              0 4252 0399
33.  บ้านกาแฟ                            08 3970 8949, 08 9951 3492
34.  เชลชี ริเวอร์ไซด์                     0 4252 1100
35.  ครัวกันเกรา              08 0043 0769
36.  เรือนริมน้ำ                            0 4251 4787
37.  เรือนรจนา                            08 7852 0605
38.  ริเวอร์บีช                              0 4251 2551
39.  นาจอกกุ้งเผา                       0 4251 2973

หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ
             ประชาสัมพันธ์จังหวัด          โทร. 0 4251 1730, 0 4252 0797
                 สำนักงานจังหวัด                  โทร. 0 4251 1287, 0 4251 1574
                 สถานีตำรวจภูธร                         โทร. 0 4251 1266, 0 4251 5680
                 ด่านตรวจคนเข้าเมือง                 โทร. 0 4251 1235                      
                 ตำรวจทางหลวง                    โทร. 1193
             ตำรวจท่องเที่ยว                    โทร. 1155/ 0 4251 5773
                 สถานีขนส่ง              โทร. 0 4251 3444
                 เทศบาลเมือง                       โทร. 0 4251 1535
     
                 ..............................................................................................................
 ขอขอบคุณข้อมูล จาก
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครพนม
พื้นที่ความรับผิดชอบ : นครพนม สกลนคร มุกดาหาร
184/1 ถนนสุนทรวิจิตร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม 48000
โทรศัพท์ 0 4251 3490-1   โทรสาร 0 4251 3492
E-mail: tatphnom@tat.or.th 









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น